เปลี่ยนการแสดงผล th A-AA+

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลทั่วไปของสถานศึกษา




ตราประจำศูนย์

        ประกอบด้วยดอกแก้วกัลยา ซึ่งเป็นดอกไม้ประดิษฐ์ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนาม เพื่อเป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ของคนพิการ    ทั่วประเทศ เป็นสิริมงคลแก่คนพิการ ล้อมรอบด้วยลายกนกสีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ลักษณะเป็นวงรีบนพื้นสีเขียว ภายใต้รูปเสมาธรรมจักร หมายถึง หน่วยงานราชการขึ้นตรงกับกระทรวงศึกษาธิการ เบื้องล่างเป็นแถบชื่อเต็มของศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดหนองคาย สัญลักษณ์นี้จึงหมายถึง ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดหนองคาย เป็นหน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ ที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ


สีประจำศูนย์


        สีเขียว - ขาว หมายถึง การให้ความรู้แก่เด็กพิการด้วยความบริสุทธิ์ เพื่อให้เด็กพิการนำไปพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้า และอยู่ราวมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข

 

 

 
       
 
        
                 ปรัชญา                    คนพิการไม่ไร้ค่า หากพัฒนาให้ถูกทาง
            คำขวัญ                     รักงาน รักหน้าที่ รักสามัคคี รักองค์กร
            เอกลักษณ์                 บรรยากาศน่าอยู่ ครูมืออาชีพ
            อัตลักษณ์                  ยิ้มได้ ทักทายเป็น
            คุณธรรมอัตลักษณ์    รับผิดชอบดี มีวินัย ใช้พอเพียง
            พระพุทธรูป                พระพุทธทะเศรษฐ์ชินศรี
            ต้นไม้ประจำศูนย์ฯ      ต้นทองอุไร
             อักษรย่อ                    ศกศ.นค.
            ผู้บริหาร                    นางสาวอำพร ราชติกา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
                                           ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เดือนกันยายน พ.ศ. 2557

1.1 ข้อมูลพื้นฐาน

        ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดหนองคาย ตั้งอยู่เลขที่ 71/12 หมู่ที่ 4 ถนนพนังชลประทาน ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย รหัสไปรษณีย์ 43000 หมายเลขโทรศัพท์ 042-422945 และ 086-4509863     โทรสาร 042-422945 website : www.specialnongkhai.net e-mail : specialnongkhai@gmail.com           สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ปัจจุบันศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดหนองคาย มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น จำนวน 5 ไร่ 2 งาน 46 ตารางวา มีเขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดหนองคาย (เด็กพิการเรียนรวม) มีจำนวน 3 เขตพื้นที่ ได้แก่ เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 2 และเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาหนองคาย    มีหน่วยบริการจำนวน 8 หน่วยบริการ ได้แก่ 1) หน่วยบริการสระใคร อำเภอสระใคร 2) หน่วยบริการโพนสา อำเภอท่าบ่อ 3) หน่วยบริการโนนสง่า อำเภอศรีเชียงใหม่ 4) หน่วยบริการโพธิ์ตาก อำเภอโพธิ์ตาก 5) หน่วยบริการนาหนัง 6) หน่วยบริการปากสวย อำเภอโพนพิสัย 7) หน่วยบริการหนองหลวง อำเภอเฝ้าไร่ และ 8)หน่วยบริการพระบาทนาสิงห์ อำเภอรัตนวาปี


1.2 ประวัติความเป็นมา
          ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดหนองคาย สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 โดยใช้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เป็นสำนักงานชั่วคราว
          ต่อมาได้ขอจัดตั้งสำนักงานชั่วคราวที่โรงเรียนหนองคายวิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายอัธยาศัย โฮมวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองคายวิทยาคาร ในขณะนั้น เพื่อจัดการศึกษาในลักษณะของศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มและเตรียมความพร้อม
          ต่อมาได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 121 ตอนที่ 58ง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด และได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การจัดตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด ให้สำนักงานการประถมศึกษา จังหวัดหนองคาย (เดิม) เป็นที่ตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดหนองคาย ถนนพนังชลประทาน ตำบลมีชัย อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยได้ให้บริการจัดการศึกษาในรูปแบบนอกระบบหรือตามอัธยาศัยแก่คนพิการ ตั้งแต่แรกเกิดหรือแรกพบความพิการจนตลอดชีวิต และจัดการศึกษาอบรมแก่ผู้ดูแลคนพิการ ครู บุคลากรและชุมชน รวมทั้งจัดสื่อ เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดในประกาศกระทรวง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 ให้ใช้สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดหนองคาย (เดิม) เป็นสำนักงาน โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายสินสมุทร เสนาอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 จนถึงปัจจุบัน
          ปัจจุบันบริหารงานโดย นางสาวอำพร ราชติกา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดหนองคาย 
1.3 ข้อมูลสภาพชุมชน
    1) สภาพชุมชนรอบบริเวณศูนย์การศึกษาพิเศษ
              มีลักษณะชุมชนขนาดใหญ่ มีประชากรประมาณ 6,564 คน บริเวณใกล้เคียงโดยรอบศูนย์การศึกษาพิเศษ ได้แก่ วัดมีชัยทุ่ง วัดมีชัยท่า สวนสาธารณะหนองถิ่น โรงเรียนเทศบาล 5 มีชัยวิทยา อาชีพหลักของชุมชน คือ การเกษตร ธุรกิจและข้าราชการ ส่วนใหญ่นับถือศาสนา พุทธ ประเพณี/ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป คือ ประเพณีสรงน้ำหลวงพ่อพระใส ประเพณีลอยกระทง ตักบาตรเทโว ไหลเรือไฟ และแข่งเรือมิตรภาพไทย-ลาว อาชีพในชุมชน ได้แก่ ผลิตและจำหน่ายอาหารพื้นเมือง ประเภทหมูยอ แหนม ร้านผลิตภัณฑ์พื้นเมือง 
    2) จังหวัดหนองคาย มี 9 อำเภอ ลักษณะภูมิศาสตร์ มีลักษณะทอดยาวตามลำน้ำโขง โดยมีพื้นที่ทอดขนานยาวไปตามลำน้ำโขง ความกว้างของพื้นที่ทอดขนานไปตามลำน้ำโขงโดยเฉลี่ยประมาณ 20 – 25 กิโลเมตร จำนวนประชากร 517,434 คน จำนวนคนพิการในจังหวัดหนองคายที่จดทะเบียนคนพิการแล้วจำนวน 15,787  คน 
    3) ข้อมูลเศรษฐกิจจังหวัดหนองคาย ประชากรโดยส่วนมากจะประกอบอาชีพทางการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เพื่อการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 57.29 ของพื้นที่จังหวัด หรือ 2,625,441 ไร่ ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว (นาปี) และยางพารา นอกจากนั้น ยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์และการทำประมง โดยปศุสัตว์ที่มีมูลค่าผลผลิตมากที่สุด คือ ไก่ไข่ สุกร โคพื้นเมือง เป็ดไข่ ไก่เนื้อ กระบือ เป็ดเนื้อ และโคพันธุ์ ส่วนด้านการประมงนั้น มีทั้งการเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ กระชัง การจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ การจับสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง และการจับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำอื่นๆ


แผนผังบริเวณศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดหนองคาย